OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

พื้นที่ชุ่มน้ำ+ฝน | บันทึก Earth Appreciation 05 : Learning in the Park
เดินตามสถาปนิกและนักนิเวศวิทยาไปฟังเบื้องหลังการออกแบบสวน

2633 | 9 มิถุนายน 2565
พื้นที่ชุ่มน้ำ+ฝน | บันทึก Earth Appreciation 05 : Learning in the Park เดินตามสถาปนิกและนักนิเวศวิทยาไปฟังเบื้องหลังการออกแบบสวน
หากพูดถึงสวนสาธารณะในภาพจำของคนทั่วไป ก็คือพื้นที่กว้างใหญ่ หญ้าเตียนเรียบ มีถนนไว้ให้คนออกกำลังกาย มีต้นไม้ใหญ่เป็นระเบียบ

แต่ใน พ.ศ. 2565 ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่า กรุงเทพมหานครได้มีสวนสาธารณะแนวใหม่ ที่ไม่ใช่ลานหญ้าเตียน ๆ ต้นไม้เรียงแถว แต่เต็มไปด้วยเนินดินสูงต่ำ ล้อมรอบด้วยผืนน้ำ มีพืชน้ำหลากชนิดขึ้นปะปนกัน และเพียงแค่เราเดินผ่านประตูระหว่างโซนเข้ามา ก็จะรู้สึกได้ถึงความพลิ้วไหว อ่อนโยน สัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติ

นี่คือสวนเบญจกิติเฟสใหม่ พื้นที่สีเขียว 259 ไร่ ใจกลางเมืองหลวงที่มาในรูปแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนมาเรียนรู้เบื้องหลังแนวคิดของการออกแบบสวนนี้ ไปจนถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่สาธารณะกลางเมืองกัน



การเดินทางเรียนรู้ครั้งนี้เป็นหนึ่งใน 5 กิจกรรมพิเศษที่ The Cloud ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ในการพาคนเมืองมาเรียนรู้ธรรมชาติผ่านสวนเบญจกิติ ซึ่งวันนี้เรามีวิทยากรหลัก 3 ท่าน คือ คุ้ง-ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ ตัวแทนสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ ที่จะมาเล่าเบื้องหลังแนวคิดการออกแบบ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำและปลาน้ำจืด ที่จะมาเล่าความรู้น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ และ โตมร ศุขปรีชา Chief Creative Director ของ OKMD ที่จะมาเล่าบทบาทของสวนสาธารณะกับเมืองผ่านกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่น่าสนใจมากมาย

จากผู้สมัครกว่า 300 คน ทีมงานได้คัดเลือกอย่างยากลำบากจนเหลือ 45 คนจากหลายหลายอาชีพ ทั้งสถาปนิก นักเรียนนักศึกษา เจ้าของร้านกาแฟ เจ้าของที่ดิน นักจิตวิทยา คนทำเอเจนซี่โฆษณา ศัลยแพทย์ นักมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อม นักออกแบบแสงสว่าง ไปจนถึงคนชอบเดินสวนสาธารณะ ที่จะมาเดินทางเรียนรู้ร่วมกันในวันฟ้าครึ้มนี้


Introduction to ‘สวนป่า’
จากประตูทางเข้าที่เชื่อมระหว่างสวนเก่ากับสวนใหม่ พวกเราเดินมาหยุดกันที่ป้ายแผนที่สวน ซึ่งคุ้งเริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของสวนว่า สวนเบญจกิติมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เมื่อมติ ครม. ให้โรงงานยาสูบย้ายออกจากพื้นที่และเปลี่ยนพื้นที่ 450 ไร่นี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียว

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา โรงงานยาสูบก็ทยอยปิดตัวลงทีละโซน เริ่มจากโซนแรกที่ถูกเปลี่ยนเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ข้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่เราคุ้นเคยกัน ต่อด้วยสวนป่าระยะที่ 1 หรือสวนเบญจกิติเฟสเก่า ที่แม้พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จะระบุว่าให้เป็นสวนป่า แต่ผลที่ได้ก็ยังเป็นต้นไม้เรียงแถวในรูปแบบเดิม ทำให้เมื่อมาถึง 2 เฟสสุดท้ายในปัจจุบัน กรมธนารักษ์จึงจัดประกวดแบบขึ้น โดยมีโจทย์ 3 ข้อคือ 1. เป็นสวนป่า 2. โรงงานผลิต 5 จะถูกเก็บไว้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และ 3. อาคารโกดัง 1-3 เป็นศูนย์กีฬา ซึ่งสถาบันอาศรมศิลป์ก็คือหนึ่งในทีมที่ส่งประกวดแบบและได้รับคัดเลือก



“ก่อนออกแบบ ทีมเราก็คุยกันเยอะว่า ‘สวนป่า’ จะตีความยังไงได้บ้าง ซึ่งในความรับรู้ของเรา สวนป่าคือต้นไม้ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรดน้ำ เติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งในวันที่เรามาเดินสำรวจพื้นที่ จำได้เลยว่าระดับน้ำในบ่อใหญ่ต่ำจนเห็นก้นบ่อ เพราะถูกดึงมารดต้นไม้ในสวน ทำให้เราคิดได้ว่า ต่อให้เป็นสวนป่าที่ต้นไม้อยู่เองได้ แต่ช่วงแรก ๆ ที่ต้นยังเล็กอยู่ เราก็ต้องช่วยรดน้ำ แล้วจะเอาน้ำจากไหน ก็เลยคิดได้ว่าป่าจริง ๆ ไม่ใช่ต้นไม้อย่างเดียว แต่คือน้ำด้วย”

คุ้งเล่าย้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวงประชุมของอาศรมศิลป์ ซึ่งนอกจากจะคุยว่าสวนป่าควรเป็นอย่างไรแล้ว ยังคุยถึงว่า พื้นที่ธรรมชาติของกรุงเทพฯ ในอดีตมีหน้าตาเป็นอย่างไรด้วย ซึ่งคำตอบที่ได้คือ กรุงเทพฯ ในอดีตไม่ใช่ป่าแห้ง ๆ แต่เป็นป่าลุ่มน้ำ เต็มไปด้วยทุ่งน้ำท่วม ห้วย หนอง คลอง บึง มีพืชน้ำมากมาย และนั่นก็ทำให้คำว่า ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ ได้เข้ามาเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการออกแบบ

“จากนั้นเราก็มาคิดเรื่องการสื่อสารว่า สวนป่าจะมาเชื่อมโยงกับน้ำได้ยังไง เพราะตอนนั้นเมื่อเราพูดถึงสวนป่า ไม่น่าจะมีใครนึกถึงน้ำ แล้วเราก็ไปเจอพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า และโครงการที่ทั้งสองพระองค์ทำก็คือรักษาป่าต้นน้ำ และกรุงเทพฯ คือคือปลายน้ำ เราก็เลยใช้แนวคิดนี้ในการสื่อสาร”

เมื่อเรามองดูสวนแห่งนี้ จะพบว่าไม่ได้เป็นพื้นที่ราบเรียบเสมอกัน แต่จะเป็นเนินสูงต่ำ มีดินที่พูนขึ้นมาเป็นเกาะเล็ก ๆ กระจัดกระจาย ล้อมรอบด้วยน้ำ หรือที่ทีมออกแบบเรียกว่า ‘หลุมขนมครก’ คุ้งเล่าว่า เป็นการเลียนแบบภูมิปัญญาการยกร่องสวนของคนไทยสมัยก่อน เพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินสูง ทำให้รากต้นไม้ถูกจำกัดบริเวณด้วยน้ำใต้ดิน เมื่อรากลงลึกไม่ได้ ต้นไม้ก็ไม่งามและล้มง่าย ชาวสวนจึงมีการขุดดินยกร่อง เพื่อช่วยให้ต้นไม้มีพื้นที่ให้รากชอนไชได้ลึกขึ้น

“ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการขุดดินพูนขึ้นมาคือ เป็นการพรวนดินให้ร่วนซุยและเติมอากาศให้ดินด้วย เพราะนึกสภาพดินที่มีอาคารกดทับมานานหลายสิบปี ถ้าปลูกต้นไม้ลงไปเลยก็ไม่น่ารอด ซึ่งพอขุดแล้ว เราก็มีการปรุงดินให้เหมาะกับการปลูกต้นไม้ด้วย” สถาปนิกแห่งอาศรมศิลป์เล่าเบื้องหลังการทำงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียด

เมื่อมองตามไปยังหลุมขนมครกเหล่านั้น ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าเนินแต่ละแห่งสูงไม่เท่ากัน เขาอธิบายว่านั่นเกี่ยวข้องกับชนิดต้นไม้ โดยเนินที่สูงหน่อยสำหรับต้นไม้ที่รากไม่ต้องการน้ำมาก ขณะที่เนินต่ำ ๆ ก็จะปลูกต้นไม้ที่ชอบน้ำ เช่น มะกอกน้ำ และพื้นของเนินก็จะมีหญ้ารูซี่ที่ปลูกไว้ช่วยยึดหน้าดิน ที่เลือกหญ้านี้เพราะเป็นหญ้าที่ทนทาน อยู่ได้ทั้งท่วมทั้งแล้ง และมีฟอร์มที่พลิ้วไหวสวยงาม



“ความพิเศษของต้นไม้ที่นี่คือ เราเลือกใช้ต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ด ไม่ใช้ไม้ล้อม เพราะสวนป่าต้องเป็นต้นไม้ที่มีรากแก้ว แล้วเราก็ไม่อยากทำลายต้นไม้ที่อื่นเพื่อมาปลูกที่นี่ แต่ด้วยข้อจำกัดของระบบราชการที่ต้องการเห็นความคืบหน้า เราก็ต้องประนีประนอมโดยยอมให้มีต้นไม้ที่โตแล้วมาลงไว้บ้าง แต่เราก็เลือกใช้กล้าไม้จากการเพาะพันธุ์ ซึ่งพอมีรากแก้วอยู่บ้าง”

คุ้งเล่าถึงต้นไม้ที่นำมาปลูกใหม่ในสวน ซึ่งมีมากถึง 347 ชนิด 8,000 กว่าต้น ที่พวกเขาได้อาจารย์ระดับเทพของวงการมาช่วยเลือกชนิดให้ ทั้ง อาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านสวนป่า, อาจารย์มณฑาทิพย์ โสมมีชัย จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อาจารย์บุญฤทธิ์ ภูริยากร ผู้เชี่ยวชาญการเพาะไม้ป่าหายาก เจ้าของแก่นจันทร์พันธุ์ไม้ จังหวัดราชบุรี เป็นที่มาของพรรณไม้หายากหลายชนิด รวมทั้งไม้พื้นถิ่นของกรุงเทพฯ ที่นำมาปลูกที่นี่



คุ้งชี้ให้เราดูแผนที่ของสวนอีกครั้ง พร้อมกล่าวว่า หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสวนป่าถึงยังมีถนนผ่ากลางเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม ซึ่งคำเฉลยของประเด็นนี้คือ ในอดีตที่นี่เป็นอาคารแน่นทุกบล็อก ทำให้พื้นที่ที่ต้นไม้ใหญ่อยู่ได้ก็มีเฉพาะแนวริมถนน และถ้าหากอยากจะเก็บต้นไม้เดิมไว้ การทุบถนนทิ้งอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก

“ลองนึกถึงต้นไม้ที่โตขนาดนี้แล้วมีคอนกรีตทับอยู่มานาน ถ้าเราทุบถนนออก รากเสียสมดุลแน่นอน เราก็เลยต้องเก็บถนนไว้ เพื่อรักษาต้นไม้เดิมไว้ให้มากที่สุด ซึ่งเราก็มีการปรับถนนให้เล็กลง จากเดิมที่กว้าง 6 เมตร เราก็เจาะตรงกลางเป็นคูระบายน้ำเพิ่มพื้นที่รับน้ำเวลาฝนตก แล้วเราก็ตีเส้นแบ่งเลนถนนและเพิ่มทางจักรยานเข้าไป”



คุ้งเล่าถึงวิธีแก้ปัญหา ซึ่งระหว่างทางที่เราเดินมา เขาก็ชวนให้สังเกตก้อนอิฐในคูระบายน้ำ พร้อมเล่าว่านั่นคือเศษเหลือจากการทุบอาคารเก่า ที่พวกเขาพยายามนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะเดินขึ้นสกายวอล์กเพื่อชมสวนกันแล้ว ซึ่งนอกจากความสวยงามของพื้นที่ เราก็ยังได้เห็นผู้คนมากมายที่มาใช้ประโยชน์จากสวน ทั้งบัณฑิตจบใหม่มาถ่ายรูปรับปริญญา คู่บ่าวสาวมาถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง ผู้คนมาออกกำลังกาย แต่ทันใดนั้นเอง เราก็เห็นคนวิ่งหนีฝนมาจากอีกฝั่ง แล้วสายฝนก็กระหน่ำลงมาอย่างรวดเร็ว ทำเอาทุกคนชุ่มฉ่ำสมกับการมาเรียนรู้เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ


อาคารเก่า เล่าเรื่องคนกับเมือง
ระหว่างรอฝนหยุด พวกเราได้โอกาสมานั่งหลบฝนในอาคารพิพิธภัณฑ์ หรืออดีตโรงงานผลิต 5 ซึ่งคุ้งเล่าว่า แต่เดิมเป็นอาคารขนาด 200 x 200 เมตร ที่ผนังปิดทึบทุกด้าน เมื่อต้องเก็บอาคารนี้ไว้กลางสวนป่า การปรับปรุงอาคารให้เชื่อมโยงกับสวนจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเริ่มจากเปิดหลังคาตรงกลางออก เพื่อดึงแสงเข้ามาและแทรกสวนให้มาอยู่ใจกลาง ไปจนถึงเปิดกำแพงด้านข้างออกและเชื่อมสกายวอล์กเข้ามา





“การแทรกสวนเข้ามาไว้ตรงกลางก็มีข้อจำกัด เพราะแต่เดิมพื้นอาคารนี้เป็นคอนกรีตทั้งหมด แม้ว่าพื้นจะค่อนข้างหนา เพราะต้องรองรับเครื่องจักรหนัก แต่การเพิ่มดินเพื่อปลูกต้นไม้ก็เพิ่มภาระโครงสร้าง เราเลยเลือกปลูกต้นไม้ให้ตรงกับตำแหน่งเสาเข็มพอดี”

คุ้งเล่าถึงอีกหนึ่งเกร็ดเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ เมื่อเรามองตามไปที่สวนกลางอาคาร จะเห็นตำแหน่งต้นไม้ถูกพูนดินขึ้นมาสูงกว่าจุดอื่น เมื่อเงยหน้าดูด้านข้าง จะเห็นสกายวอล์กที่เชื่อมเข้ามา ซึ่งแนวคิดเบื้องหลังก็คือ อยากให้จุดสำคัญต่าง ๆ ของเมืองมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน จากสวนลุมพินีก็เดินข้ามสะพานเขียวมาที่นี่ได้ จากศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ก็เดินมาที่นี่ได้ โดยห้องชั้นบนของอาคารก็จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ



“ส่วนผนังอิฐแดงตรงนั้น เราตั้งใจจะเก็บเอาไว้ เพราะอยากคงคาแรกเตอร์และภาพจำของโรงงานเดิม เราอยากให้คนของโรงงานยาสูบได้ภูมิใจกับพื้นที่นี้ด้วย” คุ้งเล่าถึงอีกสิ่งเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความใส่ใจรายละเอียด

สำหรับพื้นที่โล่งใจกลางอาคารที่เรานั่งอยู่กันนี้ เขาเล่าว่า แนวคิดที่เสนอไปคืออยากให้เป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับคนเมือง เช่น ลานสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือพื้นที่สำหรับทำเกษตรในเมือง แต่การจะทำให้เกิดขึ้นได้ในอนาคตเป็นเรื่องท้าทาย



เมื่อพูดถึงประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างคน เมือง และสวนสาธารณะ เราก็นึกถึงเรื่องเล่าจาก โตมร ศุขปรีชา ที่เล่าไว้ในตอนต้นก่อนเริ่มเดินว่า ในวันที่เขาไปเยือนเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาได้ไปร่วมทัวร์หนึ่งที่พาเดินเซ็นทรัลพาร์ก – สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางนิวยอร์ก ซึ่งความพิเศษของทัวร์นั้นคือ การพาไปรู้จักพืชผักและต้นไม้กินได้ในสวน ซึ่งมีตั้งแต่ต้นหอม ใบเบลีฟ แครปแอปเปิล (Crabapple) ที่ปลายฤดูใบไม้ร่วงจะหล่นลงมาให้คนเก็บไปกินได้ ไปจนถึงพืชที่รากนำมาทำรูทเบียร์ ซึ่งการที่สวนสาธารณะมีบทบาทในแง่ความมั่นคงทางอาหารของเมืองนี้ เป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้สวนเชื่อมโยงกับชีวิตคนเมืองใกล้ชิดมากขึ้น และเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นให้เกิดขึ้นที่นี่เช่นกัน


ชวนดูขอบตลิ่ง พืชอิงชายน้ำ
เมื่อฝนเริ่มซา ตะวันก็ใกล้จะลับขอบฟ้า พวกเราเดินออกมาขึ้นสกายวอล์กชมสวนกันอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ท้องฟ้ากำลังเป็นสีทอง บรรยากาศหลังฝนตกชุ่มฉ่ำ อากาศเย็นสบาย




ดร.นณณ์ ชวนให้เราหยุดฟังเสียงที่ดังมาจากชายน้ำด้านล่าง พร้อมเฉลยว่า มันคือเสียงของเขียดบัวที่หาฟังได้ไม่ง่ายนักในเมืองใหญ่ เพราะการที่เขียดนี้จะอาศัยอยู่ได้ แค่มีใบบัวและบ่อน้ำยังไม่พอ แต่ต้องมีตลิ่งดินที่เป็นธรรมชาติด้วย เพราะถ้าหากขอบตลิ่งถูกทำเป็นคอนกรีต เขียดบัวก็จะขึ้นจากน้ำไม่ได้ และไม่สามารถมีชีวิตรอดในบ่อนั้น เช่นเดียวกับเต่าและสัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่นๆ

ตลิ่งดินไม่ได้สำคัญเฉพาะกับสัตว์เท่านั้น แต่ยังเป็นที่อยู่ของพืชริมน้ำ – จุดเริ่มต้นของความอุดมสมบูรณ์



“ลองนึกย้อนไปสมัยที่เราเรียนวิทยาศาสตร์เรื่องห่วงโซ่อาหาร พืชคือจุดเริ่มต้น ดังนั้น พื้นที่ชายน้ำคือหัวใจสำคัญที่ส่งถ่ายแร่ธาตุจากดินที่มีมากกว่าสู่น้ำซึ่งมีน้อยกว่า พอมีพืชในน้ำ ก็จะมีสิ่งเล็ก ๆ ตามมา มีปลา กุ้ง หอย ที่กินพืชเป็นอาหาร แต่ถ้าขอบบ่อเป็นปูน พืชก็ขึ้นไม่ได้ พอไม่มีพืชที่เป็นผู้ผลิตเริ่มต้น ระบบนิเวศก็ไม่สมบูรณ์”

ดร.นณณ์ เล่าถึงความสำคัญของตลิ่งธรรมชาติและพืชริมน้ำ แต่เงื่อนไขของระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยังไม่จบแค่นั้น

“หลายคนเข้าใจผิดว่าการฟื้นฟูแหล่งน้ำ คือต้องขุดบ่อน้ำลึก ๆ ให้มีน้ำเยอะ ๆ จะได้มีปลาเยอะ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ คือระบบนิเวศที่มีทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกอยู่ร่วมกัน เพราะปลาแต่ละชนิดก็จะชอบความลึกที่ต่างกัน บางชนิดชอบอยู่น้ำตื้นตลอด บางชนิดเล็ก ๆ อยู่น้ำตื้น พอโตก็ไปน้ำลึก ถ้าเราเคยไปพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติอย่างบึงบอระเพ็ด จะเห็นว่าชาวบ้านที่ยืนในน้ำออกไปตั้งไกลเนี่ย น้ำก็ยังแค่เอว”



หากใครมีโครงการจะขุดบ่อเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ดร.นณณ์ แนะนำว่า ควรทำให้ตลิ่งมีความชันน้อยสุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีส่วนน้ำตื้นอย่างน้อย 1 ใน 3 ของบ่อ เพราะเป็นส่วนที่พืชน้ำจะขึ้นได้

“พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางของเรายาวไปถึงเกือบนครสวรรค์ ซึ่งกรุงเทพฯ เคยยิ่งใหญ่ขนาดมีกวางชนิดเดียวในโลกที่พบที่นี่เท่านั้น แล้วก็เป็นกวางที่เขาสวยที่สุด ซึ่งก็คือสมัน แล้วก็เป็นกวางชนิดเดียวที่สูญพันธุ์จากโลก”

ดร.นณณ์ เล่าถึงหน้าตาของพื้นที่กรุงเทพฯ สมัยก่อน ซึ่งเป็นดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก มีทุ่งน้ำท่วมที่สำคัญ อย่างทุ่งรังสิตที่ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ในฤดูน้ำหลาก น้ำจะเอ่อท่วมทุ่ง มดแมลงที่หนีไม่ทันก็กลายเป็นอาหารปลา ดังเช่นสำนวนไทยที่ว่า น้ำมาปลากินมด และเมื่อพืชต่าง ๆ ถูกน้ำท่วมก็จะเริ่มเน่าเปื่อย แล้วก็มีแบคทีเรีย มีพารามีเซียมมากิน ซึ่งพวกนี้จะกลายเป็นอาหารของสัตว์เล็ก ๆ และกลายเป็นอาหารปลาอีกที ทำให้ทุ่งน้ำท่วมคือหัวใจของความอุดมสมบูรณ์



“ทุ่งน้ำท่วมเป็นเหมือนห้องคลอด โรงเรียนอนุบาลของสัตว์น้ำ อย่างเวลาเราขับรถผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เราจะเห็นแม่น้ำกว้าง ๆ น้ำไหลแรง ๆ แบบนี้ลูกปลาตัวเล็กๆ อยู่ไม่ได้ เพราะมันไม่มีอะไรเลย แต่ทุ่งน้ำท่วมมีทั้งรากต้นไม้ให้หลบภัย มีทั้งอาหาร น้ำก็ไหลไม่แรงเกินไป พวกปลาก็เลยชอบมาวางไข่ที่นี่”

เมื่อถึงเวลาน้ำลด เหล่าลูกปลาน้อยก็เติบโตเต็มที่ พร้อมที่จะเดินทางกลับสู่แม่น้ำสายหลัก ก่อนจะกลับมาวางไข่ในทุ่งน้ำท่วมในฤดูกาลถัดไป นอกจากนั้น แร่ธาตุที่มากับน้ำก็เป็นปุ๋ยเติมให้ดินอุดมสมบูรณ์ และเมื่อผืนดินโผล่พ้นน้ำ พืชพรรณก็แตกยอดอ่อน หลายชนิดก็เป็นพืชผักที่คนกินได้ ชาวบ้านเก็บมาลวกจิ้มน้ำพริกสบาย พื้นที่ชุ่มน้ำในสวนแห่งนี้ จึงเป็นเหมือนการจำลองและย่อส่วนระบบนิเวศของกรุงเทพฯ ในอดีต มาให้พวกเราในปัจจบุบันได้ชื่นชม


เส้นทางน้ำ เส้นทางคน
นอกจากพื้นที่ชุ่มน้ำจะเป็นแหล่งรองรับน้ำยามหน้าฝน ช่วยป้องกันน้ำท่วมแล้ว อีกหนึ่งการบริการของพื้นที่ชุ่มน้ำก็คือการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ซ่อนอยู่ในการออกแบบสวนแห่งนี้

จากคลองไผ่สิงโต น้ำคุณภาพต่ำถูกสูบขึ้นสู่ที่สูงและปล่อยให้เป็นน้ำตก ไหลลงสู่คูตื้น ๆ ที่เต็มไปด้วยพืชบำบัดน้ำ ได้ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยมาช่วยแนะนำ

“การที่น้ำตกมาจากที่สูงและไหลผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำที่ระดับน้ำตื้น ๆ เกิดกระบวนการ 3 อย่าง หนึ่ง คือการไหลของน้ำทำให้น้ำมีพื้นที่ผิวที่สัมผัสอากาศมากขึ้น เป็นการเติมออกซิเจนในน้ำ สอง คือเมื่อพืชหายใจ รากพืชที่อยู่ใต้ดินจะดึงออกซิเจนจากอากาศลงสู่ดิน ทำให้ดินข้างใต้มีออกซิเจนมากขึ้น ดินก็ไม่เสีย ไม่เกิดการหมักหมม และสุดท้ายเมื่อพืชดูดซึมน้ำไปเลี้ยงลำต้น ของเสียต่าง ๆ ก็ถูกพืชดูดซึมขึ้นไปด้วย”

ดร.นณณ์ เล่าถึงกระบวนการทำงานของพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘กระบวนการธรรมชาติช่วยธรรมชาติ’ โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง ทำได้ทั้งในระดับครัวเรือนไปจนถึงร้านอาหาร มีเคล็ดลับข้อหนึ่งคือ หากพืชที่ปลูกบำบัดน้ำเริ่มแก่ ให้ตัดโคนเพื่อให้งอกใหม่ เพราะพืชจะดูดซึมของเสียได้มากที่สุดในช่วงที่มันเติบโต

เมื่อน้ำถูกบำบัดด้วยกระบวนการธรรมชาติจนสะอาดแล้ว ก็จะเดินทางมาสู่บ่อใหญ่ รวมถึงบ่อน้ำเล็ก ๆ ริมอัฒจันทร์ที่ออกแบบมาให้มีที่นั่งรอบ ๆ บ่อ เพื่อให้คนเอามือหรือเท้าสัมผัสน้ำได้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า จากน้ำที่เคยสกปรก ธรรมชาติก็บำบัดจนสะอาดได้



หลังตะวันลับขอบฟ้า แสงไฟที่ซ่อนอยู่ใต้ราวของสกายวอล์กก็สว่างขึ้น ซึ่งการออกแบบแสงไฟที่ซ่อนอยู่ใต้ราวทางเดินก็มีเบื้องหลังแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะตอบโจทย์การมองเห็นทาง แต่ไม่รบกวนสายตาและไม่ทำลายบรรยากาศแล้ว นักออกแบบจากอาศรมศิลป์ยังเล่าว่า เป็นการป้องกันแสงฟุ้งกระจายขึ้นฟ้า ซึ่งเป็นต้นกำเนิดมลภาวะทางแสงของเมืองใหญ่ด้วย




ความใส่ใจในรายละเอียดของการออกแบบยังไม่จบแค่นั้น เพราะแม้กระทั่งความลาดเอียงของพื้น ก็ถูกคิดมาเพื่อให้วีลแชร์ใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยมีความลาดที่ระดับ 1 : 20 ส่วนทางเดินริมน้ำด้านล่าง ก็มีขอบปูนยกระดับสองข้างเพื่อกันวีลแชร์ตก หรือแม้แต่เสาของสกายวอล์ก พวกเขาก็เลือกโครงสร้างชนิดที่จะไม่กระทบกระเทือนต่อรากต้นไม้เดิม แม้จะมีราคาสูงกว่าก็ตาม



ระหว่างเดิน คุ้งชวนเราสังเกตเก้าอี้ไม้ด้านล่างพร้อมบอกว่า นั่นคือไม้เหลือใช้จากการรื้อโรงงานและนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งทางเดินข้ามน้ำก็มาจากบล็อกคอนกรีตเดิมของโรงงาน ส่วนอิฐตัวหนอนที่ใช้ในที่จอดรถและฐานที่จอดจักรยาน ก็มาจากของเดิมของโรงงานเช่นกัน


Dynamic of the Park
ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งคงที่ แต่คือความเปลี่ยนแปลง… สวนป่าก็เช่นกัน

“เรามักคิดว่าสวนสาธารณะมีอยู่รูปแบบเดียว คือรูปแบบของสวนที่จัดเสร็จแล้ว ต้นไม้ปลูกเรียบร้อยแล้ว แต่ตอนที่สวนสาธารณะ High Line ที่นิวยอร์กเปิดใหม่ ๆ ผมไปที่นั่น ก็พบว่าตรงทางรถไฟเก่าที่เป็นก้อนกรวด เขาปล่อยไว้ไม่ปลูกอะไร เพราะรอให้เมล็ดหญ้าพื้นเมืองปลิวมาตกและเติบโตเอง เพื่อให้มีพืชพื้นถิ่นเกิดที่นั่น”

โตมรเล่าถึงสวนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจากความสำเร็จรูปที่เราคุ้นชิน พร้อมทั้งยกตัวอย่างการออกแบบสวนอีกแห่งที่โตเกียวว่า สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้เป็นสวนป่าที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรดน้ำ แต่ต้องใช้เวลา 150 ปี ในการรอให้สวนไปถึงจุดนั้น โดยแต่ละฤดูกาล พืชพรรณจะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่าน โดยปัจจุบันซึ่งผ่านมาแล้วราว 100 ปี เป็นจุดที่ต้นสนและเฟินกำลังขึ้น ซึ่งสุดท้ายมันจะตายไป และถูกแทนที่ด้วยไม้ใบกว้างอย่างการบูร โอ๊ค ที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องมีคนดูแล

“ผมไปค้นดูประวัติศาสตร์ของสวนสาธารณะในโลก พบว่ามันมีอยู่ 2 ลักษณะ แบบแรกคือแนวคิดของคนอังกฤษ ที่เขาจะสรรหาพันธุ์ไม้แปลก ๆ มาเก็บไว้ เป็นคล้าย ๆ พิพิธภัณฑ์ เกิดเป็นสวนที่ต้องการการฟูมฟัก ต้องดูแลอย่างดี กับสวนอีกแบบหนึ่งที่ใช้พืชท้องถิ่น แล้วให้มันเติบโตเอง ที่เรียกว่า Forest Park หรือ Forest Gardening หรือสวนป่า มีมาตั้งแต่ยุคหินกลางที่มนุษย์ไปเก็บลูกไม้ที่เราชอบกินมาปลูก”

แน่นอนว่าสวนเบญจกิติเฟสใหม่นี้ ก็คือสวนในรูปแบบหลัง ซึ่งโตมรเล่าว่า เป็นเหมือนหน้าสดของกรุงเทพฯ ที่จำลองพื้นที่ชุ่มน้ำภาคกลางสมัยก่อน มีที่ลุ่ม มีโคก มีหนอง พอน้ำท่วม สมันก็จะหนีน้ำไปอยู่บนโคก



“หญ้าที่เห็นนี้ก็มีวัฏจักรของมัน ช่วงหน้าแล้งมันจะตายและทิ้งเมล็ดไว้ พอฝนมาก็จะงอกใหม่ คนที่มาช่วงหน้าแล้ง เห็นมันแห้งก็อาจนึกว่าทำไมดูแลสวนไม่ดีเลย แต่ที่จริงมันคือวงจรของธรรมชาติ” คุ้งเล่าเสริม

“วันนี้ต้นไม้ส่วนใหญ่ยังไม่โต เวลาเดินไปแต่ละโซนก็เลยอาจดูเหมือน ๆ กันไปหมด แต่ในอนาคต พอต้นไม้ใหญ่โตแล้ว เราจะเห็นความแตกต่างของแต่ละโซนชัดเจนขึ้น เพราะแต่ละโซนจะถูกกำหนดด้วยพันธุ์ไม้”



สถาปนิกแห่งอาศรมศิลป์อธิบายว่า ในโซนพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมดจะแบ่งเป็นบ่อหลักอยู่ 4 บ่อ 

บ่อแรกอยู่ใกล้คลองไผ่สิงโต ซึ่งเชื่อมกับคลองเตยที่ใกล้กับปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีความเป็นน้ำกร่อย กล้าไม้ในโซนนี้จึงเน้นไปที่ไม้ป่าชายเลน ส่วนบ่อที่ 2 เป็นคอนเซ็ปต์บึงป่าน้ำจืด มีไม้ป่าจำพวกมะค่า ประดู่ ส่วนบ่อที่ 3 เป็นบ่อที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่ใจกลางสวน เป็นโซนของต้นไม้ใหญ่อายุยืน พวกโพธิ์ ไทร ไกร กร่าง รวมถึงต้นจามจุรีที่มีอยู่เดิมด้วย และบ่อสุดท้ายเป็นโซนสวนป่ากินได้และสวนเกษตรคนเมือง มีแปลงนาสาธิต มีพืชอาหารคนและพืชอาหารนก เช่น ตะขบ มะกอกน้ำ ค้าน้ำ ซึ่งเขาบอกว่าต้นไม้เหล่านี้จะโตเต็มที่ก็ราว ๆ อีก 30 ปีข้างหน้า



ส่วนนักนิเวศวิทยาอย่าง ดร.นณณ์ ก็พูดถึงอนาคตของสวนแห่งนี้ว่า เป็นความน่าสนใจที่จะรอดูว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยเขาเล่าตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ 40 ไร่ ที่เขาทำไว้ที่หนองจอกว่า หลังขุดบ่อเสร็จและปล่อยน้ำเข้ามาเพียงแค่ 1 ปี ก็มีพืชพรรณต่าง ๆ ที่เกิดเองเต็มไปหมด เช่น โสน กก แห้ว บัว และปลาอีกมากมาย แต่ในบริบทสวนใจกลางเมืองแบบนี้อาจเป็นไปได้ยาก เพราะแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์ท้องถิ่นรอบ ๆ ไม่น่ามีอยู่แล้ว การนำมาปลูกจึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็น่าสนใจที่จะรอดูว่า จะมีเมล็ดพืชชนิดไหนที่อาจติดมากับเท้านกหรือมูลนกแล้วมาเกิดเองได้บ้าง ไปจนถึงสัตว์น้ำพื้นถิ่นอย่างปลากัดไทย ปลากริม ปลากระดี่ ปลาหมอไทย

“คือถ้าไม่หามาปล่อย ก็ต้องรอดูว่าจะมีมาเองไหม เพราะเคยมีรายงานเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า มีไข่ปลาบางชนิดที่พอเป็ดกินเข้าไปแล้ว มันทนกรดในระบบทางเดินอาหารเป็ดได้ พอเป็ดอึออกมา ก็กลายเป็นลูกปลา แต่สิ่งที่ต้องระวังคือเอเลี่ยนสปีชีส์ เช่น ไมยราบยักษ์หรือกระฉูด ที่ถ้าเริ่มขยายพันธุ์แล้วจะกำจัดยากมาก”

ในระหว่างเดิน มีคนถามถึงหิ่งห้อยว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะมีในพื้นที่นี้ ซึ่ง ดร.นณณ์ ตอบว่า ข้อจำกัดหลักของที่นี่คือแสงสว่าง เพราะหิ่งห้อยใช้แสงในการสื่อสาร ถ้าไม่มืดสนิทก็จะอยู่ไม่ได้ แต่หากดูแค่ตลิ่งดินและแหล่งน้ำก็ถือว่าเหมาะสม เพราะตัวอ่อนหิ่งห้อยกินหอยเป็นอาหาร และหิ่งห้อยน้ำจืดก็อยู่กับกกได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนต้นลำพู


Forest for Rest
หากจะให้นิยามความรู้สึก 1 คำ จากการได้มายืนดูสวนแห่งนี้ หลายคนก็อาจเลือกคำว่า ความสุข

“เคยได้ยินคำว่าอาบป่าไหม” ดร.นณณ์ ชวนคุยระหว่างเดิน

แนวคิดการอาบป่า หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าชินรินโยคุ คือแนวคิดของการให้ธรรมชาติช่วยบำบัดและเยียวยาจิตใจ ไม่ต่างจากเนื้อร้องในเพลงที่ว่า หากคุณเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า…

“แม้มนุษย์จะอาศัยในเมือง แต่แค่ไม่กี่ร้อยรุ่นที่ผ่านมา เราก็ยังอาศัยอยู่ในป่า ซึ่งการที่มนุษย์ยุคนั้นจะอยู่ได้ เราจำเป็นต้องมีป่าที่สมบูรณ์ นั่นก็ทำให้สมองของเราถูกโปรแกรมให้เวลาเราเห็นป่าเขียว ๆ ผืนน้ำกว้าง ๆ เราก็จะรู้สึกมีความสุข แต่ทุกวันนี้ พวกเราคงไปเที่ยวป่าไม่ได้ทุกวัน ดังนั้น การมีพื้นที่แบบนี้ในเมืองจึงสำคัญ และทำให้สุขภาพจิตของคนเมืองดีขึ้น”

ดร.นณณ์ อธิบาย พร้อมเล่าข้อมูลจากหนังสือ Last Child in the Woods ที่ยกตัวอย่างงานวิจัยถึงผลดีของการมีพื้นที่ธรรมชาติในเมืองว่า มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า เด็กจากโรงเรียนที่อยู่ใกล้สวนสาธารณะ มีคะแนนเฉลี่ยดีกว่าเด็กจากโรงเรียนที่อยู่ในเมืองที่ล้อมรอบด้วยตึก หรืองานวิจัยอีกชิ้นก็พบว่า ห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มองออกไปเห็นพื้นที่สีเขียว ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวที่ดีกว่า



ตอนนี้เราก็เดินมาถึงจุดเริ่มต้นของสวนอีกครั้ง ก่อนที่การเดินทางเรียนรู้วันนี้จะสิ้นสุดลง สถาปนิกแห่งอาศรมศิลป์ก็ได้กล่าวถึงคีย์เวิร์ดชวนคิดทิ้งท้าย กับคำว่า Ecological Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานทางนิเวศ

“ปกติเมื่อเราพูดถึง Infrastructure เราก็มักนึกถึงถนน ไฟฟ้า ประปา แต่ตอนเราออกแบบ เราอยากที่นี่ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางนิเวศของเมือง เพราะนิเวศแปลว่าบ้าน เวลาพูดถึงบ้าน มันไม่ใช่แค่ขอบคอนกรีตที่เรากั้นขึ้นมา แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก เราอยากให้โครงการนี้สร้างกรอบคิดใหม่ของคนกับเมือง ให้การรับรู้คำว่าบ้านขยายออกไป – ไปเชื่อมกับธรรมชาติภายนอกด้วย”


ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)