OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

แรงงานสร้างสรรค์กับคุณสมบัติที่ตลาดต้องการ

4859
แรงงานสร้างสรรค์กับคุณสมบัติที่ตลาดต้องการ

แม้จะรู้ดีกว่าตัวเองนั้นมีความสามารถ ศักยภาพล้นเหลือ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะ “ถูกเลือก” เสมอไป มีหลายปัจจัยที่ทำให้ความทะนงตนว่าเก่งกาจกว่าใครนั้นถูกทำลายย่อยยับ เพียงเพราะคุณไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร แล้วคุณคือคนที่ใช่สำหรับเขาหรือเปล่า...เรามีบทสัมภาษณ์จากผู้บริหารบริษัทผลิตสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ของไทยและเจ้าของธุรกิจออแกไนซ์ระดับโลกสัญชาติไทย พวกเขาจะมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ให้แรงงานรุ่นใหม่


เทพฤทธิ์ วงศ์วาณิชวัฒนา

ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)


ชื่อเสียงองค์กรแห่งนี้เป็นที่เลื่องลือถึง “สื่อบันเทิงที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์” โดดเด่นจนได้รับรางวัลการันตีทั้งไทยและเทศ ปัจจุบันองค์กรธุรกิจผู้สร้างสรรค์เนื้อหาบันเทิงครบวงจรได้ขยายธุรกิจมากกว่าการผลิตรายการโทรทัศน์ ทั้งการผลิตภาพยนตร์ จัดแสดงคอนเสิร์ตและโชว์บิซ ผลิตและตัดต่อภาพเคลื่อนไหวด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ รับจ้างจัดกิจกรรมทางการตลาด และสตูดิโอบันทึกเสียง การเติบโตสูงเช่นนี้ทำให้เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ถูก “ปักหมุด” ให้เป็นที่ทำงานในฝันของหลายๆคน


“บริษัทของเราผลิตงานครีเอทีฟ ซึ่งเรื่องครีเอทีฟนั้นสอดแทรกอยู่ในงานทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาร์เก็ตติ้งหรือฝ่ายศิลป์ก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น เราจึงไม่ได้สนใจเด็กที่เรียนเก่งมาก เกรดสูง แต่เราอยากเห็นไอเดียของเขามากกว่า คนที่โฟกัส ขวนขวาย และพยายามออกไปหาสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว แล้วตกผลึกเป็นผลงานออกมา ทำเป็น Portfolio มาเสนอให้เราดู คนแบบนี้จะได้รับการพิจารณามากกว่า แล้วพอร์ตแบบไหนจึงจะทำให้งานของคุณเข้าตากรรมการมากกว่าคนอื่น มันคืองานที่ต้องสะท้อนความคิดของคุณได้อย่างชัดเจน และควรขยายขอบเขตการทำงานให้กว้างขึ้น จากที่เคยทำเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ก็เปลี่ยนเป็นการคิดแบบรายการทีวี ทำให้เวลาในการถ่ายทอดตัวตนของคุณนั้นยาวขึ้น เพื่อให้เราเห็นคุณแจ่มชัดขึ้นนั่นเอง”


เคล็บลับสู่สายงานสร้างสรรค์


เทพฤทธิ์ ฝากถึงน้องๆที่ใกล้จะจบการศึกษาว่า ไม่ควรรีรอใบปริญญา แต่ควรรีบเข้าสู่โหมดการทดลองงานได้เลย ซึ่งสิ่งที่จะพิสูจน์ขั้นต่อไปว่าจะร่วมงานกันได้หรือไม่ คือหัวใจ และความกระตือรือร้น ไม่กลัวที่จะทำสิ่งใหม่ สู้กับบททดสอบไปเรื่อยๆ สนุกกับการทำงานเป็นทีม เก็บเกี่ยวการเรียนรู้จากการทำงานจนเป็นความชำนาญและต่อยอดความคิดได้ ซึ่งที่ผ่านมา 70-80% ของเด็กฝึกงานคือบุคลากรคนสำคัญของเวิร์คพอยท์ และสิ่งนี้เองย่อมแสดงให้เห็นว่า ต้นทุนทางความคิดและทัศนคติที่ดีในการทำงานนั้นเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้องค์กรผลิตสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยสนใจในตัวเรา



พันธวิศ ลวเรืองโชค

ผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ Apostrophy’s


องค์กรที่มีบุคลากรเพียง 40 ชีวิตแห่งนี้คือผู้ผลิตงานออกแบบหลากแขนง เป็นผู้สร้างสรรค์งานอีเวนต์และนิทรรศการที่น่าตื่นตาตื่นใจทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 1,000 โปรเจ็คต์ ผลงานการออกแบบของ Apostrophy’s โดดเด่นด้านการใช้ “ไฟ แสง และสีสัน” เติมเต็มด้วยลูกเล่นที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ให้มีความหมาย ทั้งสะกดสายตาและเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัส เรียนรู้เรื่องราวไปพร้อมกัน และเมื่อธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ บริษัทจึงต้องเร่งเฟ้นหาผู้สร้างสรรค์หน้าใหม่ๆที่มีศักยภาพมากกว่าเน้นปริมาณคนทำงาน


“สำหรับ Apostrophy’s เองเรามี Apos Square จัดตั้งขึ้นมาได้หนึ่งปีแล้ว มันคือกระบวนการคัดกรองคนทำงานและฝึกงาน (Training) ไปพร้อมกัน เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจและจำนวนโปรเจ็กต์ที่เพิ่มขึ้นของเรา ยกตัวอย่าง เราต้องการคนทำงาน 3 คน แต่เราคัดเลือกมาก่อน 10 คน แล้วค่อยๆฝึกและพัฒนากันไป ขั้นตอนมันค่อนข้างซับซ้อน เมื่อสมัครเข้ามา ก็จะมีการสอบข้อเขียน ซึ่งเป็นการวัดว่าเขามีความต้องการทำงานมากน้อยแค่ไหน ทำการบ้านหรือรู้จักบริษัทเราขนาดไหน แล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่มาประเมินผลอีกรอบหนึ่ง จากนั้นก็จะเข้าสู่ Intensive Course เวิร์กชอปเป็นเวลา 3 วัน จบคอร์สก็เป็นเวลาตัดสินใจเลือกกันทั้งสองฝ่ายว่าจะอยู่หรือไป เมื่อผ่านการทดสอบแล้วเราจึงจะฝึกขั้นต่อไป เน้นให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม หลังจากนั้นก็จะประเมิน KPI อีกครั้งก่อนจะให้ลงมือทำงานจริง


การคัดเลือกคนแบบ Apostrophy’s เราจะมองจากทัศนคติ ความอดทน การเปิดใจกว้าง มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งดูเหมือนผมจะเน้น Soft Skill มากกว่า Hard Skill เพราะจริงๆแล้วในขณะที่การเวิร์กชอปและทำงาน ทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการทำงานมันถูกต่อเติมระหว่างทางอยู่แล้ว”


เคล็บลับสู่สายงานสร้างสรรค์


ผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ Apostrophy’s ฝากข้อคิดและเทคนิคอัพเลเวลให้กับเด็กรุ่นใหม่เพิ่มเติมว่า ในสังคมการทำงานจริง ความคิดหรือไอเดียนั้นจะต้องตีค่าเป็นตัวเลขได้ หมายความว่า แม้จะเก่งจริงหรือไอเดียเจ๋งขนาดไหน แต่ถ้าไม่สามารถชี้แจงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ มันก็ไม่มีความหมาย ดังนั้น อย่าหมกมุ่นเพียงความรู้ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเท่านั้น แต่ควรเรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ หรือตัวเลข คำนวณเอาไว้บ้าง เพื่อแปลงงานออกแบบนั้นให้เกิดมูลค่าสูงสุดขึ้นมา และนั่นคือนิยามของแรงงานสร้างสรรค์ที่แท้จริง



ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 2733.76 KB)

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)