OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

คนรุ่นใหม่กับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล | รศ.ยืน ภู่วรวรรณ

18402 | 13 กรกฎาคม 2561
คนรุ่นใหม่กับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล | รศ.ยืน ภู่วรวรรณ
ทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล
“มีผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่ค่อยเข้าใจคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางดิจิทัล กล่าวคือ ผู้ที่เกิดหลังปี 1994 ปีที่เริ่มมี WWW(World Wide Web) ทำให้อินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญมาก การสื่อสาร การเข้าถึงข่าวสารที่รวดเร็ว ทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลง และหลังจากปี 2007 ปีที่ Steve Jobs สร้างสมาร์ทโฟน(Smartphone) และ Mark Zuckerberg นำเสนอ Facebook ทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่ยุคโมบายสมาร์ทโฟน(Mobile Smartphone Age) ในปี 2017 Google ได้แสดงให้เห็นขีดความสามารถของ AI (Artificial Intelligent) นับเป็นยุคที่ก้าวสู่ AI มีผลให้สิ่งแวดล้อมที่เรียกอีกอย่างว่า นิเวศน์ทางด้านดิจิทัล (Digital Eco System) เปลี่ยนแปลง เป็นแรงผลักดันทำให้คนรุ่นที่เกิดในยุคนี้ มีความเป็นชาวพื้นเมืองดิจิทัล (Digital Native) มากขึ้น เพราะเกิดมาบนสิ่งแวดล้อมดิจิทัล ลักษณะพิเศษของชาวพื้นเมืองดิจิทัลที่เด่นชัดคือ ชอบทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน มีความคิดแบบขนาน (Parallelism) ทั้งนี้เพราะใช้คอมพิวเตอร์(Computer) แบบหลายหน้าจอพร้อมกัน ประการที่สองคือการอ่านแบบใช้การมอง (Visualize) ไม่ชอบอ่านหนังสือที่เป็นเล่ม (Complete Story) แต่อ่านเป็นส่วน (Fragment) เช่น การอ่านการ์ตูนที่มีรูปภาพ จินตนาการเรื่องราวดี มีการสร้างตัวตนในโลกไซเบอร์สเปซ (Cyberspace) เช่น การเล่นเกมส์ สามารถเล่นบทบาทในอวตารได้ (Avatar) ประการที่สามมีการเชื่อมต่อ (Connectivism) สื่อสารไปหาผู้อื่นได้ดี ทำให้มีเพื่อนในสังคมแบบเครือข่าย (Social Network) และสามารถสื่อสารถึงกัน การสื่อสารด้วยตัวอักษร จะส่งอารมณ์ ความรู้สึกด้วยภาษาที่สื่ออารมณ์ เช่น อิอิ 555 เป็นต้น หรือใช้สัญลักษณ์รูปอารมณ์ (Emoticon) เป็นรูปต่างๆ มีสติกเกอร์ แทนความหมาย ลักษณะสำคัญของชาวพื้นเมืองดิจิทัลประการที่สี่ คือ อยู่กับข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก สื่อสารเร็ว รับรู้เร็ว จึงทำให้มีความอดทนต่ำ สมาธิสั้น ทนต่อการรอคอยไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถจดจ่อตรงจุดใดจุดหนึ่ง เพราะมีตัวเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย
หากเข้าใจลักษณะที่สำคัญของชาวพื้นเมืองดิจิทัลแล้ว ก็จะทำให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของวิธีการเรียนรู้ ดังนั้นการทำอะไรต่างๆ จะต้องปรับไปตามสภาพที่คนรุ่นใหม่เป็น ไม่ใช่ว่าพยายามจะดึงผู้คนเหล่านี้ย้อนยุคมาสู่อดีต มักมีคำถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่ ไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการเอาความรู้สึกของตัวเราไปตัดสิน ไม่ได้ยึดคนรุ่นใหม่เป็นที่ตั้ง ซึ่งการตัดสินในวิธีนั้นไม่เกิดผล เพราะชาวพื้นเมืองดิจิทัลไม่สามารถหลุดออกจากสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ได้ การเรียนรู้ วิธีการรับรู้ต่างๆ จึงต้องเปลี่ยนไป”

สร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม
 “เราต้องพยายามสร้างให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่าโลกที่มีชีวิตอยู่ตอนนี้เป็นสองโลก โลกที่หนึ่งคือโลกที่เป็นกายภาพ (Physical) ก็คือเด็กจะต้องอยู่กับพ่อแม่ ทุกคนจะต้องมีเพื่อน มีสังคม ในขณะเดียวกันอีกโลกหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากัน เราเรียกว่าไซเบอร์สเปซ (Cyberspace) ซึ่งชีวิตจริงเป็นการเชื่อมระหว่างสองโลกนี้  โลกที่มีรายละเอียดเนื้อหาอยู่ในไซเบอร์เยอะแล้ว แต่ในอีกโลกเรากำลังจะเรียนรู้ชีวิต เรียนรู้สมรรถนะ เรียนรู้ทักษะอีกหลายอย่าง เพราะฉะนั้นรูปแบบการเรียนรู้จึงต้องเป็นลักษณะที่รวมสองโลกไว้ด้วยกันและดึงให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ถ้ามองอย่างนี้แล้วการมีความสุขของคนรุ่นใหม่ก็คือการผสานระหว่างสองโลกนี้ที่สมดุลกันพอดี “ส่วนองค์กรอย่างสถาบันการศึกษา โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดหรืออื่นๆ ก็ต้องปรับตัว โดยให้ดูว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร หลังจากนั้นดูว่าใครเป็นคนมาใช้บริการ แล้วสิ่งที่เราให้บริการตรงกับความต้องการของเขาไหม มองย้อนออกมาว่าสิ่งที่เราบริการไปนั้นตอบสนองความต้องการพวกเขาได้ไหม โดยเฉพาะเขามีความต้องการใหม่ๆ หลายอย่าง และเป็นสิ่งที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ เพราะถ้าคนอื่นทำได้ก็เหมือนเราไปทำหน้าที่ซ้ำคนอื่น ถ้าทำได้ตรงที่เขาต้องการเขาจึงจะเข้ามาหาเรา”

คนรุ่นใหม่กับทักษะที่จำเป็น 
“เรารู้ว่าวันนี้แนวโน้มโลกเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมหรือชีวิตก็เปลี่ยนวิธีไป เราผสมสองโลกเข้าด้วยกันเป็น Cyber Physical Model เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป อนาคตการทำงานก็เลยไปอยู่ในเรื่องของทักษะที่คนรุ่นใหม่จะต้องคิด ทำ และวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง มีทักษะในชีวิตอีกแบบมากกว่าจะเป็นการใช้แรงงานอย่างเดียว เพราะเขาจะต้องดำเนินชีวิตในสองโลก เพราะฉะนั้นถ้าเราถามว่าทักษะของแรงงานในยุคนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นลักษณะของทักษะที่ไม่ใช่แรงงานแบบเดิม เพราะอะไรก็ตามแต่ที่เป็นแรงงาน จะมีเครื่องจักรมาแทนที่ เราจึงต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้คิด ให้ทำ ให้เห็นสมรรถนะที่ต้องการ เช่น เขาต้องเรียนรู้เร็วและเรียนรู้ด้วยตัวเอง สามารถประยุกต์หรือคิดอะไรออกมาต่างๆ ได้ดี ซึ่งก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีอะไรบ้าง แต่กระบวนการทำงานทุกอย่างจะต้องผสมโลกทางกายภาพและไซเบอร์สเปซเข้าด้วยกัน”


ที่มา : บทสัมภาษณ์ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ   จากหนังสือเล่มเล็ก DigiLearn is Now (2560) 
ส่องโอกาสสร้างอาชีพ

Digilearn is Now | เรียนรู้ สู่โอกาส
16676
Good Idea | ต่อยอดไอเดียและอาชีพในยุคแห่งการเรียนรู้ไร้พรมแดน
12057
ห้องเรียนแห่งอนาคต พื้นที่แสดงความคิดของคนรุ่นใหม่ | พันธวิศ ลวเรืองโชค
9356
BLENDED LEARNING | บูรณาการการเรียนรู้แบบออนไลน์และออฟไลน์สำหรับคนรุ่นใหม่
11184
Future Trend แนวโน้มการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
17712
ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการการเรียนรู้ของคนไทย
11896
เทรนด์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล
52668
ส่อง โอกาส จาก การเรียนรู้
7691