หลากหลายการเรียนรู้สำหรับวัยเก๋า
ภาพที่ 1 : ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ซึ่งเมื่อแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็น 3 ช่วงวัย คือ ผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) ผู้สูงอายุวัยกลาง (อายุ 70-79 ปี) และผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) จะพบว่า ผู้สูงอายุของไทยส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วงวัยต้น ร้อยละ 57.4 ของผู้สูงอายุทั้งหมด
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำหรับการทำงานในปี 2560 ของผู้สูงอายุนั้น มีผู้สูงอายุที่ทำงาน 3.9 ล้านคน หรือร้อยละ 35.1 โดยผู้สูงอายุชายที่ยังคงทำงานอยู่สูงกว่าหญิงผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานในฐานะผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง สำหรับอาชีพที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำอยู่ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านการเกษตร ผู้ปฏิบัติงานบริการและจำหน่ายสินค้า ผู้ประกอบอาชีพขั้นพื้นฐาน ช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ปฏิบัติงานด้านเครื่องจักรและด้านการประกอบการที่สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว
การที่สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในไม่ช้าทำให้จำเป็นต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุให้ได้พัฒนาทักษะ ความคิด ทั้งกายใจไม่ให้เสื่อมถอย โดยการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของผู้สูงอายุให้สามารถมีความรู้ รู้จักการวางแผนและนำองค์ความรู้เรื่องราวต่างๆ ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิต การทำงานต่างๆ ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงรู้เท่าทันเทคโนโลยีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ด้วย
มาดูตัวอย่างนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีการเรียนรู้ใหม่ๆ แหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในยุคนี้
แพล็ตฟอร์มออนไลน์เพื่อการเรียนรู้
แพล็ตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในปัจจุบันที่มีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เป็นตัวช่วยในด้านเทคโนโลยีที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ได้ง่ายเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาแพล็ตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน รายการบนยูทูบ เว็บไซศต์ชุมชนออนไลน์ โดยที่มีการออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอภาพหรือตัวอักษรที่ใหญ่ขึ้น เนื้อหาสาระที่ผู้สูงอายุสนใจ รูปแบบการใช้งานที่ง่ายขึ้น การนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจเหมาะกับการใช้งานเวลาว่าง เป็นต้น
แอปพลิเคชันสำหรับเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยที่ช่วยในการเรียนรู้ รวมทั้งใช้งานได้สะดวกและสนุกสนาน อย่างแอปพลิเคชันให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ในชื่อ Alzheimer Disease จัดทำและพัฒนาโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย โดยนำเสนอในรูปแบบของเกมที่จะเรียนรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์ อาการเตือนและวิธีป้องกัน ซึ่งจะค่อยได้รับข้อมูลความรู้ กระตุ้นการคิดและการใช้สมอง ทั้งเกมจับคู่ บวกลบเลข โดยการเล่นเกมผ่านไปทีละด่าน ซึ่งถือเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เป็นทั้งเกม ข้อความ ภาพ สื่อวีดีโอ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้อยู่ในรูปแบบเข้าใจง่าย คนรอบตัวผู้สูงอายุก็สามารถหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจในโรคอัลไซเมอร์เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงได้ด้วย
ภาพที่ 2 : https://apps.apple.com/th/app/alzheimer-disease/id990906113
| แพล็ตฟอร์มออนไลน์: Young Happy (ยังแฮ้ปปี้) |
Young Happy เครือข่ายสังคมคนสูงวัยที่มีช่องทางการสื่อสารทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน เฟสบุ๊ค ยูทูป พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายสังคมที่ให้ผู้สูงวัยมีความสุข (‘ยังแฮ้ปปี้’ได้) เป็นมิตรกับผู้สูงอายุผ่านกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อลดปัญหาสุขภาพใจของผู้สูงอายุ โดยเจาะกลุ่มผู้สูงอายุในเมืองที่ยังมีการช่วยเหลือตนเองได้ (อายุ 50 ปีขึ้นไป) แพล็ตฟอร์มยังแฮ้ปปี้จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงนำเสนอทั้งในรูปแบบเนื้อหาที่น่าสนใจรอบตัวที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ทั้งในด้านอาหาร สุขภาพ ความรู้ เทคโนโลยี ทักษะเสริม ช่วยเสริมสร้างทักษะทั้งกายใจ โดยมีการนำเสนอทั้งในรูปแบบบทความ วีดีโอรายการ บอร์ดสนทนา การจัดกิจกรรม เป็นต้น
ภาพที่ 3 : เว็บไซต์ ยังแฮ้ปปี้ https://younghappy.com
ภาพที่ 4 : แอปพลิเคชัน YoungHappy (ยัง แฮ้ปปี้) https://younghappy.com/aboutyounghappy/
| เครื่องมือช่วยอ่าน: แอปพลิเคชัน Magnifying Glass with Light |
สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การอ่านตัวหนังสือบางครั้งเป็นเรื่องที่ลำบากในสถานการณ์ที่ต้องออกไปข้างนอกหรือต้องการอ่านหนังสือแต่ตัวหนังสือมีขนาดเล็กเกินไป แอปพลิเคชันแว่นขยายจึงช่วยผู้สูงอายุโดยช่วยขยายตัวหนังสือให้อ่านได้สะดวก รวมทั้งเป็นไฟฉาย แว่นขยาย สามารถอ่านได้ทั้งเมนูอาหาร หนังสือ นิตยสาร หน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตได้อย่างง่ายดาย
ภาพที่ 5: แอปพลิเคชัน Magnifying Glass with Light
| แอปพลิเคชันตัวช่วยเรื่องสุขภาพ: RDU รู้เรื่องยา |
แอปพลิเคชัน “RDU รู้เรื่องยา" เกิดจากความร่วมมือของ 6 องค์กรชั้นนำด้านสาธารณสุข และนวัตกรรม ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลการใช้ยาด้วยการค้นหารายการยา และ scan QR Code บนหน้าซองยา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการบันทึกข้อมูลยาของตนเอง และสามารถเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับยาได้อย่างน่าเชื่อถือ ซึ่งผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปสามารถหาข้อมูลเบื้องต้นในด้านยาและสุขภาพได้ด้วย
ภาพที่ 6: แอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา